สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ครั้งที่ 2/2564
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายอรรถการ ตฤษณารังสี เป็นประธานอนุกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล, นายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงการคลัง, ศาสตราจารย์เกียรติคุณชุติมา สัจจานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, นายธาดา เศวตศิลา ผู้อำนวยการกลุ่มลูกค้าสถาบันการศึกษา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายคมกฤช จันทร์ขจร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา, นายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ และนางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา ณ ห้องประชุมกำแหง ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้น พลิกโฉมการศึกษาชาติ ด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ผ่านรูปแบบการสื่อสารที่เข้าถึงทุกช่วงวัย เนื่องจากปัจจุบันทุกคนสามารถปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ที่เน้นการใช้ข้อมูลดิจิทัลในชีวิตประจำวัน ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ การดำเนินการผ่านระบบแพลตฟอร์มเป็นตัวเชื่อมโยงบุคคล หน่วยงาน และธุรกิจเข้าถึงกันโดยถือเป็นสิ่งจำเป็น คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัลการศึกษาเล็งเห็นถึงต้นแบบทางการศึกษาในอนาคต ที่จะเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ที่มีผลต่อแนวทางการจัดการศึกษาดั้งเดิม เช่น การสอนในโลกยุคใหม่การบรรจุครูผู้สอน อาจเปลี่ยนแปลงเป็นครูดิจิทัล หรือมีครูของโลกหนึ่งคนที่สามารถสอนคนได้ทั่วโลก ที่ค่าใช้จ่ายในการศึกษาน้อยหรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษา โดยมีแนวทางให้บุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่หลากหลายแขนง สามารถนำเสนอแนวความคิดที่น่าสนใจบรรจุในแพลตฟอร์มการศึกษา เพื่อกระตุ้นความสนใจ และก่อให้เกิดการเรียนรู้ของบุคคล ที่ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษา แต่สามารถกระจายความรู้ให้ถึงกลุ่มประชาชน ชุมชน หรือสังคม ที่มีความสนใจนำความรู้ แนวคิด วิธีการที่ได้รับสู่การประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน ถือเป็นการส่งเสริมการพัฒนาความรู้ และการพัฒนาอาชีพ ซึ่งความรู้เหล่านี้จะสอดแทรกเพื่อเสริมความเข้มแข็งการสร้างรายได้ ที่การศึกษาในยุคปัจจุบันควรเป็นส่วนสนับสนุนหลัก อนุกรรมการฯ จึงมีความประสงค์ในการแบ่งปัน และประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์มพลิกโฉมการเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สำหรับสร้างสรรค์สังคมการศึกษาดิจิทัลในอนาคต
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัลการศึกษา แสดงความห่วงใยในการจัดการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ต้องปรับตัวเป็นการศึกษาทางไกล (Distance Education) เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียนปกติ แต่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยอาศัยสื่อการเรียนการสอนเป็นสื่อกลางในการจัดการศึกษา โดยอาจกระทบต่อการจัดการศึกษาปฐมวัย ในเด็กเล็ก อายุไม่เกิน 5 ปี อาจส่งผลต่อการพัฒนาสมอง กล้ามเนื้อ ร่างกาย และอาจส่งผลต่อสมาธิของผู้เรียน ซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่ต้องได้รับการติดตามและความใส่ใจระดับสูงกว่าช่วงวัยอื่น การจัดการความรู้จึงควรให้ให้ความรู้เพื่อการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ และเพิ่มระดับความฉลาดให้ผู้เรียน (Cognitive Domain) ร่วมกับการพัฒนากล้ามเนื้อให้เกิดทักษะการเคลื่อนไหวที่ชำนาญและเชี่ยวชาญในการทำงานที่ประณีต กล่าวคือ มีฝีมือในการทำงาน (Psychomotor Domain) และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างพฤติกรรมอันพึงประสงค์ เพื่อให้เด็กเกิดความตระหนักในจริยธรรมและคุณธรรม พร้อมกับการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง (Affective Domain) ซึ่งการศึกษาในระดับอื่นๆ ต่างมีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาฝีมือเช่นกัน
ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัลมีการพิจารณา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่
1) การติดตามความคืบหน้าโครงการ ‘Ed’s Possible’ ที่ดำเนินงานถึงระยะที่ 3 คือการแบ่งปันข้อมูล (Sharing Community) ผ่านเว็บไซต์ Inskru โดยจีดทำ Spotlight Idea จำนวน 25 เรื่อง และสร้างชุมชนการเรียนรู้ระหว่างครูผู้สอน โดยให้เปิดพื้นที่ให้สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการเรียนการสอน พร้อมดำเนินการจัดการอบรมเพื่อให้ครูที่มีองค์ความรู้สามารถถ่ายทอดข้อมูลในรูปแบบที่กระชับ ชัดเจน และสะดวกต่อความเข้าใจ ผ่านรูปแบบการเขียนแนวความคิด (Idea) พร้อมพัฒนาแนวทางการส่งเสริมในกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และวางแผนการดำเนินงานถึงระยะที่ 4 วางแผนการจัดนิทรรศการ ให้แสดงผลสะท้อนของโครงการ พร้อมสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมต่อไป
2) การขับเคลื่อน Big Data ด้านการศึกษาของประเทศไทย ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ได้รูปแบบข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องและครบถ้วนตั้งแต่แรกเริ่ม ตลอดจนมีระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำมาจัดทำ Big Data และนำเสนอในรูปแบบที่ตรงตามความต้องการของผู้บริหารเพื่อสนองประเด็นยุทธศาสตร์จากแผนยุทธศาสตร์การศึกษา การประมวลผลข้อมูล Big Data แสดงในรูปแบบกราฟและ Dashboard ที่ผู้บริหารสามารถกำหนดตัวแปรต่าง ๆ ด้วยตนเอง ผู้บริหารสามารถนำผลมาใช้ช่วยในการวางแผนและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และวางแผนงบประมาณสำหรับการพัฒนาครู นักเรียน และโรงเรียนในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนเสนอในการพัฒนาระบบบริหารการจัดการศึกษาที่มีอยู่ร่วมกับระบบต้นแบบในการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่แรกรับจนสำเร็จการศึกษาที่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ที่สามารถตอบโจทย์ในเชิงนโยบาย พฤติกรรมและสังคมของนักเรียนเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพลเมืองของประเทศไทย