พระมหาศิริมงคล ฐานสิริ สอน “เรียนรู้ชีวิตในช่วงวิกฤติ” บนเวทีธรรมบรรยาย เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ
“ตั้งแต่โควิด-19 เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน การรักษาชีวิตของเรา คือ ทำชีวิตให้มีคุณภาพ แต่ปัจจุบันมีคุณภาพไม่เพียงพอ ต้องมีสุขภาพที่ดี คุณภาพที่ดีต้องควบคู่กับสุขภาพที่ดี ต้องเรียนรู้ชีวิตว่าวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว ควรทำอย่างไร” พระมหาศิริมงคล ฐานสิริ วัดมหรรณพารามวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้เมตตาให้คำตอบบนเวทีธรรมบรรยาย เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ จัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ในหัวข้อ “เรียนรู้ชีวิตในช่วงวิกฤติ”
พระมหาศิริมงคล เริ่มเล่าว่า สมัยก่อนเขาว่าคนไทยมีน้ำใจ มีระเบียบมีวินัยมีความรับผิดชอบ เมื่อโควิด-19 เข้ามาเป็นบททดสอบเป็นบทเรียนที่ดีว่าคนไทยเรามีน้ำใจ มีระเบียบ มีความรับผิดชอบ เรียกว่าตัวห่างไกลแต่ใจเราใกล้ชิดกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน พระอาจารย์จึงแนะนำธรรมะ เรียกว่าเคล็ดลับแห่งความสุข 5 ประการในยุคโควิด-19 เคล็ดลับทั้ง 5 นั้นประกอบด้วย อย่างที่หนึ่ง มองกันในแง่ดี อย่างที่สอง มีระเบียบวินัย อย่างที่สาม มีหัวใจพระพรหม อย่างที่สี่ นิยมสามัคคี และสุดท้ายอย่างที่ห้า มีความเสียสละ
พระอาจารย์ได้อธิบายความเป็นข้อให้ฟังว่า ประการแรก มองกันในแง่ดี สังคมยุคปัจจุบันต้องรู้จักมองโลกและมองคนอื่นในแง่ที่ดี เป็นมงคลแห่งความรู้สึก มองให้เห็นดีแล้วจะมีความสุข การเห็นดีการยินดีมีความพอใจ โบราณท่านกล่าวว่า “พอใจในสิ่งที่ตนมี ยินดีในสิ่งที่ตนเป็น” และอีกบทหนึ่งกล่าวว่า “พอใจตามมี ยินดีตามได้” ถ้าทุกคนพูดมีแง่คิดที่ดี มีแง่คิดที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เมื่อได้อยู่บ้านลองสังเกตว่า ในบ้านเราสิ่งใดขาดไป ในบ้านเราสิ่งใดควรเพิ่มเติม เป็นเวลาที่สำคัญให้ท่านทั้งหลายได้อยู่กับตัวเองให้มากที่สุด อยู่กับตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น แล้วจะได้เห็นความสุขที่แท้จริง สุขจากภายนอกมักเกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนแปลงสลายไปในที่สุด แต่สุขที่จะมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน คือสุขที่ออกจากข้างใน สุขที่ออกจากจิตใจของท่าน ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมซักซ้อมความดี รู้จักมองตนในแง่ดี และมองสังคมประเทศชาติตลอดถึงพระพุทธศาสนาให้เป็นมงคลแก่ชีวิต คือการมองที่ดีการดูที่ดี
ท่านได้ยกตัวอย่างคำกล่าวของหลวงพ่อพุทธทาส ที่ได้ประพันธ์การมองในแง่ดีไว้น่าคิดว่า “เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่ เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ยเหมือนเที่ยวหา หนวดเต่าตายเปล่าเอย ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง” การมองจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ
ประการถัดมา ระเบียบวินัย คือ กฎระเบียบกติกาข้อบังคับ ในช่วงนี้เราทั้งหลายต้องช่วยกันดูแลสุขภาพ ป้องกันตนเอง ล้างมือใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างทางสังคม งดกิจกรรมทางสังคมที่ไม่จำเป็น ลดการติดต่อพูดคุยในชนหมู่มาก เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้เราท่านทั้งหลายได้ช่วยกันรักษาสุขภาพกายสุขภาพใจ เป็นกฎระเบียบแบบแผนแบบฉบับที่ต้องบังคับใช้กันทุกคน แบบแผนระเบียบ ในทางโลกแบบแผนระเบียบ เรียกว่า กฎหมาย หากเป็นทางธรรมแบบแผนระเบียบ เรียกว่า พระธรรมวินัย
ประการที่สาม มีหัวใจเป็นพระพรหม ที่เรียกว่ามีหัวใจเป็นพระพรหมนั้น หัวใจนี้เรียกว่าหัวใจที่ประเสริฐ บันดาลความร่มเย็นเป็นสุข เรียกว่า พรหมวิหารธรรม พรหมวิหารธรรมมีหัวใจสำคัญอยู่ 4 ห้อง คือ เมตตา มีความรักใคร่ กรุณา มีจิตใจสงสาร มุทิตา เบิกบานพลอยยินดี และอุเบกขา มีใจเป็นธรรม หัวใจพรหมวิหารธรรม ในยุคนี้สำคัญมาก ที่ว่าสำคัญนั้นจะสังเกตได้ว่าโควิด-19 ก้าวเข้ามาสู่เมืองไทย คนไทยในส่วนต่าง ๆ ไม่จะเป็นบ้าน วัด รัฐ โรงเรียน หน่วยงานต่างๆ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแนบแน่น เห็นได้จากคนไทยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในยุควิกฤตสิ่งสำคัญคนไทยจะมีน้ำใจเป็นที่หนึ่ง ท่านกล่าวว่า “น้ำบ่อน้ำคลองยังเป็นรองน้ำใจ กระจกที่ว่าใส ๆ ยังสู้น้ำใจคนไทยไม่ได้ คนไทยเรานั้นถือว่ามีน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่ารักกันเหมือนพี่ ดีกันเหมือนน้อง ปรองดองกันเสมือนญาติ ผิดพลาดเราก็ให้อภัยซึ่งกันและกัน” สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจของพระพรหมอย่างแท้จริง
ประการที่สี่ นิยมความสามัคคี ความสามัคคีนำมาซึ่งความสำเร็จทุกสิ่งอย่าง กิจกรรมต่างๆ ถ้าขาดความสามัคคี ย่อมสำเร็จได้ยาก ความสามัคคีทางความคิด เรียกว่า จิตสามัคคี สามัคคีทางการกระทำ เรียกว่ากายะสามัคคี เหตุนี้ความกลมเกลียวความปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงบังเกิดความสามัคคีนั้นถือว่าเป็นอานุภาพที่ยิ่งใหญ่ ท่านกล่าวว่า “ความรักมี สามัคคีมา แต่ความรักโรยรา เพราะไม่มาของสามัคคี” ความสามัคคีมีหน้าที่ใดจะสังเกตได้ง่าย ถ้าความสามัคคีมีที่ใดเรื่องไกลๆ จะกลายเป็นเรื่องใกล้ๆ เรื่องใหญ่ๆ จะกลายเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องหนักๆ จะกลายเป็นเรื่องเบาๆ เรื่องเศร้าๆ จะกลายเป็นเรื่องใสๆ เรื่องหมดหวังจะกลายเป็นเรื่องที่มีหวัง เรื่องที่เคยทุกข์ก็จะกลายเป็นความสุขในที่สุด อานุภาพของความสามัคคีท่านกล่าวว่า “สร้างสรรค์ความเจริญ กล้าเผชิญอุปสรรค หาญหักศัตรู เป็นอยู่ด้วยความผาสุก” ยุคปัจจุบันนั้นความสามัคคีจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ประการสุดท้าย มีความเสียสละ คำว่าเสียสละ ในบรรดาคำว่าเสียทั้งหลาย เสียแล้วไม่หาย เสียแล้วไม่ศูนย์ เห็นจะมีแต่คำว่าเสียสละเท่านั้น คำว่าเสียสละนั้นคือช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แบ่งปันให้กัน ชาวพุทธนั้นพื้นฐานของการทำดี ประพฤติดี มีการให้เป็นที่หนึ่ง เป็นพื้นฐาน ทานถือว่าเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะก้าวสู่ความประพฤติดีปฏิบัติชอบประกอบทัน ชาวพุทธปรารถนาสิ่งที่สำคัญคือ บุญ นักปราชญ์ราชบัณฑิตกล่าวไว้น่าคิดว่า บุญจะเป็นเงาเฝ้าตามติด บุญจะเป็นมิตรในทุกที่ คอยช่วยเหลือเกื้ออารีย์ ห่างราคีปลอดโพยภัย บุญจะพิทักษ์ บุญจะรักษา บุญจะนำพาพบสุกใส หากชีพลับดับล่วงไป บุญจะส่งให้ทุกท่านถึงแดนสุขาวดี อยู่ก็มีคนรัก จากก็มีคนอาลัย อยู่ก็มีคนอุปฐาก จากก็มีคนอุปถัมภ์ อยู่ก็มีคนเลี้ยงกาย ตายก็มีคนเลี้ยงวิญญาณ ถือเป็นอานุภาพของบุญที่เสียสละ ยิ่งในยามวิกฤติเช่นนี้ การแบ่งปันการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตเป็นอันมาก
พระอาจารนย์สรุปว่า ท่านทั้งหลาย มีระเบียบมีแบบแผนมีวินัยเป็นของตัวเอง ดังที่กล่าวข้างต้นว่า เราจะมีความสุขได้ คือมองกันในแง่ดี มีระเบียบวินัย มีหัวใจพระพรหม นิยมความสามัคคี และมีความเสียสละ ทั้ง 5 ประการนี้ มีขึ้นกับบุคคลใดใครก็ตาม ความสุขอันเกิดจากกาย เกิดจากใจ ก็จะเป็นความสุขที่บริสุทธิ์ใจอยู่ที่ไหนก็มีคนรัก เรียกว่าเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
สำหรับผู้สนใจร่วมฟังธรรมบรรยายดี ๆ ในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” สามารถติดตามรับชมผ่านระบบ live สด ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00 – 13:30 น. ทางช่องทาง facebook fanpage CPALL และสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทางเดียวกัน พร้อมรับฟังคติธรรมดีๆ ในช่องทางTikTok ได้ที่ ธรรมะTikTok
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย