2 กระทรวงยักษ์จับมือชวนคนไทยปลูกป่าล้านไร่ลดภาวะโลกร้อน
ก.พลังงาน – ก.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ผนึกกำลังปลุกคนไทยร่วมปลูกป่า 1 ล้านไร่ หนุนไทยมุ่งสู่ Carbon Neutrality
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) และพิธีลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่ อย่างมีส่วนร่วมกับ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยได้รับเกียรติจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกุลิศ สมบัติศริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมในพิธี
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า จากภาวะโลกร้อน ที่ทั่วโลกต่างมุ่งเน้นและตระหนักถึงความสำคัญกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “Carbon Neutrality” ประเทศไทยได้นำนโยบายดังกล่าวมากำหนดแนวทางด้านพลังงาน เศรษฐกิจ นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะประกาศจุดยืนดังกล่าวในเวทีระดับโลก โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์อยู่ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 2065 – 2070 โดยการประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของ กฟผ. และโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศไทย
โดย กฟผ. ได้ขานรับนโยบาย Carbon Neutrality ซึ่งนำมาวางเป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของ กฟผ. ทั้งในส่วนการผลิตไฟฟ้า ระบบส่ง พลังงานหมุนเวียน นวัตกรรม และภารกิจสนับสนุนการชดเชยคาร์บอนไดออกไซต์ผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมภายใต้แนวคิด “ EGAT Carbon Neutrality” ตามเป้าหมายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งมีแผนในการปลูกป่าปีละหนึ่งแสนไร่ รวมจำนวนหนึ่งล้านไร่ ระหว่างปี ค.ศ. 2022-2031 ประกอบไปด้วยป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ โดยจะ Kick off โครงการฯ ปลูกป่าชายเลนที่จังหวัดชุมพร ทั้งนี้ คาดว่าทั้งโครงการฯ จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์จำนวน 1.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้นั้นมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ด้านนายวราวุธ กล่าวเสริมว่า นอกจากการร่วมมือปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมในครั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรฯยังได้จัดทำโครงการ T-VER ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมปลูก บำรุงรักษาและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ของรัฐ โดยเอกชนจะได้รับแบ่งปันปริมาณคาร์บอนเครดิต ซึ่งการปลูกป่าหรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องการดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์สาเหตุของปัญหาก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีผลประโยชน์ร่วมในเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Co-benefit) ด้วย ทั้งนี้ ขอขอบคุณ กฟผ. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหา และลุกขึ้นมาประกาศเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนขององค์กร
ทั้งนี้ สำหรับบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยจะมีการร่วมกันจัดทำแผนและดำเนินงานสนับสนุนให้เกิดการปลูกป่า และบำรุงรักษาพื้นที่ป่าในการดูแลของแต่ละหน่วยงาน สนับสนุนระบบการผลิตกล้าไม้พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ผลักดันให้เกิดโครงการที่จะเสริมสร้างกระบวนการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ และสังคม พร้อมร่วมมือพัฒนาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศ พร้อมสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ร่วมแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ รวมถึงข้อมูลปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (คาร์บอนเครดิต) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน
ในโอกาสเดียวกันนี้ ยังได้มีการจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “สานใจ ปลูกป่าล้านไร่ : Lower – Carbon Future for All” โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานพันธมิตร ที่มาร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ได้แก่ นายจิระศักดิ์ ชูความดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มาร่วมอัพเดทสถานการณ์ทรัพยากรทางธรรมชาติของไทย และแนวทาง กลยุทธ์ รวมถึงเป้าหมายภายใต้ความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ส่งเสริมศักยภาพในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซต์ นอกจากนี้ในงานยังมีการเปิดตัวโครงการ “ชวนยูปลูกป่า” แนะนำ Application ECOLIFE ที่จะชวนคนไทยมาร่วมกันปลูกต้นไม้หนุนนำประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนไปด้วยกัน และเปิดตัวเพลง “1+1” ซึ่งเป็นเพลงประจำโครงการปลูกป่าล้านไร่ของ กฟผ. โดยมี ว่าน ธนกฤต พานิชวิทย์ เป็นทั้งผู้แต่งและขับร้องเพลงนี้…///