ข่าวประชาสัมพันธ์

5 มาตรการ บอกลาการกลับมาของฝุ่นร้าย PM2.5 ในเมืองเหนือ

ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนเมษายน เป็นประจำทุกปี ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในปริมาณสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งสาเหตุหลักนั้น มักเกิดจากการเผาเศษวัชพืชในที่โล่งแจ้ง เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร เนื่องจากการกำจัดด้วยการเผาเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่นๆ

เพราะการสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ทุกวันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลร้ายต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนโดยรอบและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และอาจส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ” ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.แม่เมาะ และพื้นที่ จ.ลำปาง ที่ประสบกับปัญหาหมอกควันทุกปี จึงได้ออกมาตรการเพื่อรับมือกับฝุ่นพิษ PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง

1. เฝ้าระวังและระงับไฟป่าแรกเริ่ม
กฟผ. แม่เมาะ จะจำแนกพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ารอบพื้นที่โครงการ โดยเตรียมความพร้อมของเครื่องจักร อุปกรณ์ดับไฟต่างๆ ได้แก่ รถบรรทุกน้ำ รถเคลื่อนที่เร็วและอุปกรณ์ดับเพลิง รวมถึงวิทยุสื่อสาร ให้พร้อมต่อการใช้งานเมื่อเกิดเหตุไฟป่าขึ้น โดยได้จัดทำแนวป้องกันไฟป่า ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร อีกทั้งได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ ลาดตระเวนตรวจสอบพื้นที่โดยรอบ และประชาสัมพันธ์เบอร์ติดต่อฉุกเฉินให้กับประชาชน เพื่อรับแจ้งเหตุไฟป่าในกรณีเกิดไฟป่าได้อย่างทันท่วงที

2. พัฒนาแอปพลิเคชัน ‘Lampang Hotspot’ ตรวจวัดคุณภาพอากาศและไฟป่า
การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดย กฟผ. ได้นำแอปพลิเคชัน “Lampang Hotspot” ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดยผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. แม่เมาะ มาช่วยตรวจสอบคุณภาพอากาศจากสถานีของกรมควบคุมมลพิษ และติดตามปริมาณฝุ่น PM2.5 รวมถึงสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดลำปางผ่านจุดความร้อน (Hotspot) ที่แสดงบนแผนที่ในแต่ละวันแบบ Real Time เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและเข้าระงับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเฝ้าระวังการเกิดพื้นที่ลุกไหม้ในบริเวณใกล้เคียง ไม่ใช่แค่นั้น แอปพลิเคชันยังแสดงข้อมูลพยากรณ์ลมล่วงหน้าได้ถึง 16 วัน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถวิเคราะห์ทิศทางหรือแนวโน้มการเคลื่อนตัวของฝุ่นละออง เพื่อให้ผู้ใช้งานเตรียมพร้อมรับมือกับคุณภาพอากาศในแต่ละวันได้ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านทาง Google Play และ App Store

นอกจากนี้ กฟผ.แม่เมาะ ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น PM2.5 จำนวน 11 สถานี บริเวณรอบพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะ รวมทั้งชุมชนใกล้เคียง และมีการนำระบบ IoT (Internet Of Things) มาช่วยในการตรวจติดตามและวิเคราะห์ฝุ่นด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะส่งข้อมูลตรวจวัดและรายงานผลแบบ Real Time และยังสามารถดูผลการตรวจวัดผ่านเว็บไซต์ http://mmmenv.egat.co.th ได้อีกด้วย

3. ใช้ประโยชน์จากเศษวัชพืชทางการเกษตร เพื่อลดการเผา
สาเหตุหลักของฝุ่น PM2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาเศษวัชพืช เพื่อเตรียมการเพาะปลูก จึงเป็นที่มาของโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืชเพื่อช่วยลดการเผา โดย กฟผ. แม่เมาะ ได้เข้าไปสอนการทำปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักจากเศษพืชทางการเกษตรให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ฟางข้าว ตอซังข้าว และเปลือกถั่ว นอกจากนี้ ยังรับซื้อปุ๋ยดังกล่าวจากชุมชน เพื่อนำมาใช้บำรุงต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่ รวมถึงรับซื้อเศษวัชพืช และพืชชีวมวล เพื่อนำมาผลิตชีวมวลอัดแท่ง (Biomass Pellet) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ผ่านโครงการ Biomass co-firing ช่วยลดการเผาเศษวัชพืช และช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนอีกด้วย

4. สร้างความเข้าใจเรื่องฝุ่น PM2.5 ให้ชุมชน
การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง PM2.5 ให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก กฟผ. แม่เมาะ จึงเข้าไปรณรงค์และให้ความรู้แก่ชุมชนโดยรอบ ได้ทราบถึงสาเหตุของการเกิดพร้อมทั้งแนวทางป้องกัน ควบคู่ไปกับการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เช่น จัดเสวนาแรกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้นำชุมชน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ทั้งป้ายรณรงค์ลดฝุ่น PM2.5 Spot วิทยุ สำหรับเปิดเสียงตามสายในชุมชน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงปัญหาของฝุ่น PM2.5 รวมถึงได้รับรู้ถึงแนวทางการป้องกัน และการเตรียมตัวรับมืออย่างถูกวิธี

5. อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติด้วย ‘ป่าชุมชน’
มาตรการสุดท้าย คือการเพิ่มความรักความหวงแหนของพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นในใจของผู้คน ผ่านโครงการสนับสนุนจัดตั้งป่าชุมชนในท้องที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ด้วยการเชิญชวนชุมชนมาเป็นเจ้าของป่าร่วมกัน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้ชุมชนช่วยกันรักษาทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ของตน เกิดการบริหารจัดการป่าไม้โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน พร้อมทั้งร่วมมือกันสอดส่องดูแลป่า ส่งผลให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ที่สำคัญชุมชนสามารถใช้ประโยชน์และอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันนี้ กฟผ. แม่เมาะ ได้สนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้วจำนวน 20 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 31,885 ไร่

กฟผ. แม่เมาะ ยังใส่ใจในการดูแลคุณภาพอากาศที่อาจเกิดจากการดำเนินงานของ กฟผ. โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งมีการควบคุมคุณภาพอากาศที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าให้ดีกว่าที่เกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นภัยมืดที่คุกคามสุขภาพของคนไทยอย่างไม่รู้ตัว ประชาชนและทุกภาคส่วน ต้องจับมือแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อสร้างคุณภาพอากาศและสุขภาพที่ดีของเราทุกคน

#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.