เซเว่น อีเลฟเว่น เดินหน้าลดโลกรวน เพิ่มพื้นที่สีเขียว นำร่อง จ.สุรินทร์
เซเว่น อีเลฟเว่น เดินหน้าลดโลกรวน เพิ่มพื้นที่สีเขียว นำร่อง จ.สุรินทร์ ขับเคลื่อนภาคีเครือข่าย ชุมชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด มีส่วนร่วมรักษ์โลก
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกำลังรุนแรงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก มาพร้อมกับการขยายตัวของเมือง โดยการกินพื้นที่ป่าไม้มากขึ้น พื้นที่สีเขียวมีจำนวนลดน้อยลงในหลายพื้นที่ โดยจะสังเกตุได้จากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ภัยแล้ง และภัยพิบัติ อันเกิดจากภาวะโลกรวน ทำให้เกิดการตื่นตัวขององค์กรณ์ต่างๆ ที่เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญของหลายประเทศในการเพิ่มการปล่อยออกซิเจนสู่บรรยากาศ
ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโครงการผ่านกระบวนการจัดการแบบห่วงโซ่คุณค่า (Supply chain values) ตามหลัก 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เน้นสร้างอาชีพ สร้างการหมุนเวียนรายได้ สร้างองค์ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ทั้งกับเด็กนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผ่านการสร้างพื้นที่สีเขียวจากคนภายในชุมชนเพื่อชุมชนของตนเอง โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุรินทร์ กลุ่มเกษตรกรชุมชนโนนนารายณ์ โรงเรียนมหิธรวิทยา พร้อมด้วยวัดป่าบวรสังฆาราม (วัดต้นแบบโครงการป่าล้อมวัด)
โดยให้การสนับสนุนตั้งแต่กระบวนการ “ต้นน้ำ” หรือแหล่งเพาะกล้าไม้ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรือนเพาะพันธุ์ โรงเรือนอนุบาลกล้าไม้ งบเพาะกล้าไม้ดูแลรักษา ซึ่งมีทั้งชุมชนโนนนารายณ์ และมทร.สุรินทร์ ร่วมเป็นแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อน และโรงเรียนมหิธรวิทยา ในโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ภายใต้การดูแลของ ซีพี ออลล์ ร่วมนำร่องพัฒนาโครงการ “โรงเรียนป่าไม้” ที่มุ่งเน้นบูรณาการองค์ความรู้กระบวนการปลูกต้นไม้สู่ 8 กลุ่มสาระวิชาตามหลักสูตรแกนกลาง กระทรวงศึกษาธิการ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) และสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียนได้อีกด้วย ทั้งนี้กล้าไม้จาก 3 แหล่ง จะถูกส่งไปปลูกที่บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน ผ่านโครงการป่าล้อมวัด, โคก หนอง นา และการส่งเสริมพนักงานปลูก (We Grow for ALL) ในช่วงไตรมาสที่ 3
นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ CP ALL Planting Model จาก บมจ.ซีพี ออลล์ มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายของ ESG ซึ่งในโครงการนี้จะอยู่ในส่วนของ E-Environment โดยในปีนี้มีเป้าหมายคือปลูกพืชไม้ยืนต้นในวัดภาคอีสานกว่า 200 วัด (โครงการป่าล้อมวัด) ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้ได้ 160,000 ต้น ในรูปแบบการปลูกป่าของ ซีพี ออลล์ เราจะดำเนินการในรูปแบบของ ซีพี ออลล์ โมเดล คือการดำเนินการตั้งแต่ ต้นน้ำ นั่นก็คือการเพาะกล้าไม้ การอนุบาลกล้าไม้ โดยสนับสนุนงบประมาณในการเพาะกล้าไม้ รวมถึงสร้างโรงเรือนต่างๆ ระบบน้ำในการดูแลรักษา ซึ่งการสนับสนุนงบเราหวังว่าจะเป็นการมอบโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในอนาคตให้กับชุมชนต่อไป ผลผลิตที่ได้จากการเพาะกล้าไม้ก็จะนำไปใช้ในการปลูกป่าตามโครงการของเราตลอดทั้งปี ซึ่งเป้าหมายถัดไปจะเป็นส่วนกิจกรรมกลางน้ำ ซึ่งเราจะมีการจัดกิจกรรมส่งมอบกล้าไม้ และปลูกป่าประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ช่วงฤดูฝน และปลายน้ำจะเป็นกิจกรรมในการเก็บข้อมูลในการปลูกป่าและติดตาม ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ให้เติบโตเพื่อใช้ประโยชน์ในการช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้
นายวิรัตน์ เลื่องลือ ผู้นำชุมชนโนนนารายณ์ กล่าวว่า ทางซีพี ออลล์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน ในการรองรับต้นไม้ที่เราเพาะขึ้นมา มีการสนับสนุนวัสดุปลูก รับซื้อกลับคืนไป ก็ทำให้มีคนที่อยากจะร่วมในโครงการเพิ่มขึ้น มีเครือข่ายชุมชนอื่นๆที่เห็นด้วย ซึ่งชุมชนและชาวบ้านที่ว่างเว้นจากฤดูทำนา ระหว่างรอฤดูกาลถัดไปสามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อหารายได้เสริมและเรียนรู้เพื่อสืบสานวิชาเพาะกล้าไม้อย่างถูกต้องไปยังลูกหลานต่อได้ หรือจะเอาไปขยายเป็นสายอาชีพในอนาคตได้ด้วย โดยจะมีวิทยากรที่มีความรู้มาคอยสอนและกระจายรายได้ให้กับชุมชน ผลพลอยได้คือการสร้างความภูมิใจในการรักต้นไม้ และเมื่อชาวบ้านรู้ว่ากล้าไม้ที่เขาทำจะถูกส่งไปที่ วัด โรงเรียน ชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆในจังหวัด เขาก็เริ่มภูมิใจ และคิดว่ามันเป็นความภูมิใจที่อยู่ในจิตสำนึก การที่เขาได้สร้างต้นไม้ให้กับชุมชนกับโลกใบนี้
โครงการ CP All Planting Model เป็นโครงการปลูกป่าไปพร้อมกับการช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างออกซิเจนสู่โลกมากขึ้น โดยจำนวนการอนุบาลกล้าไม้ในแต่ละพื้นที่แบ่งออกเป็นที่จ.สุรินทร์ 1.ชุมชนโนนนารายณ์ 70,000 ต้น 2.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุรินทร์ 20,000 ต้น 3.โรงเรียน มหิธรวิทยา จ.สุรินทร์ 20,000 ต้น โรงเรียนบ้านโคกค่าย จ.สงขลา 10,000 ต้น และสั่งซื้อจาก CPS เพื่อกระจายไปยังภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนืออีก 40,000 ต้น เพื่อนำร่องขยายโครงการสู่ภูมิภาคอื่นๆ และเราก็จะได้เครือข่ายที่เข้มแข็งในการมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชนกับเอกชนในการสร้างโลกที่ดี สร้างโลกสีเขียวที่เป็นมิตรต่อประชากรโลก ด้วยปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์ และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” .