ข่าวประชาสัมพันธ์

นโยบายสาธารณะยุคบิ๊กดาต้าสู่การถอดรหัสการใช้ “Mobility Data” ผ่านความร่วมมือดีแทค- สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ

นโยบายสาธารณะยุคบิ๊กดาต้าสู่การถอดรหัสการใช้ “Mobility Data” ผ่านความร่วมมือดีแทค- สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ

ด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทำให้สภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภาคเอกชนมีการนำข้อมูลบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย ขณะที่ภาครัฐในหลายประเทศได้มีการอภิปรายถึงแนวทางการนำ “บิ๊กดาต้า” มาใช้ประโยชน์เพื่อต่อการออกแบบนโยบายสาธารณะ

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ในต่างประเทศเริ่มมีข้อถกเถียงและการอภิปรายถึงประเด็นการใช้ mobility data มาเป็นแนวทางในการพัฒนานโยบาย ตัวอย่างเช่นในนอร์เวย์ สวีเดน ฝรั่งเศส สโลวาเกีย ที่มีการนำ mobility data มาวิเคราะห์รูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวเพื่อการออกแบบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการดำเนินการวิเคราะห์ mobility data ร่วมกันระหว่างดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บในครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอานุภาพของข้อมูล Mobility data ต่อการออกแบบนโยบายสาธารณะที่มีข้อได้เปรียบด้านขนาดข้อมูล ความรวดเร็วในการรวบรวมข้อมูล ต้นทุนที่น้อยกว่าการได้มาซึ่งข้อมูลแบบสำรวจ หากเราสามารถนำ mobility data มาใช้ในการออกแบบนโยบายได้มากขึ้น จะสร้างพลังขับเคลื่อนอันมหาศาลในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“mobility data ไม่เพียงแต่จะทำให้ภาครัฐและนักวิจัยเข้าใจสถานการณ์ในสังคมได้ดีละเอียด ชัดเจน และฉับไวมากขึ้น หากภาคประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จะเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมมีทางออกใหม่ให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ กล่าว

เวลา: ตัวแปรสำคัญของการพัฒนา

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ซีอีโอของ Boonmee Lab บอกว่า บริษัทมีเป้าหมายในการนำความรู้ด้านการออกแบบ ดาต้า และเทคโนโลยีมาทำให้เกิดนวัตกรรมเพื่อสังคม และโปรเจ็คนี้ก็เป็นหนึ่งในโปรเจ็คที่ตื่นเต้นที่สุดด้วยลักษณะของ mobility data ที่มีลักษณะเฉพาะ ประกอบกับการมองเห็นถึงศักยภาพในการออกแบบนโยบายสาธารณะที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ

“โปรเจ็คนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการนำ mobility data มาวิเคราะห์และนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครั้งแรกของไทย และสามารถต่อยอดไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะเพิ่มเติม นำมาพลิกแพลงได้หลายอย่างจนนำไปสู่ข้อสรุปใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” ฐิติพงษ์กล่าว

ในโลกสมัยใหม่ที่ดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์และองคาพยพของสังคมอย่างสิ้นเชิง การออกแบบนโยบายสาธารณะก็ควรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นของสังคม ควรนำแนวคิดการทำงานแบบ agile มาใช้ เพราะหากรัฐยังมีมุมมองต่อนโยบายสาธารณะแบบเดิม ในห้วงระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะตามหลังนานาอารยะประเทศอย่างมาก

“ในยุคที่เวลาเป็นทรัพยากรที่มีค่า ภาครัฐจำเป็นต้องนำเครื่องมือและรูปแบบการทำงานสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างเช่นโปรเจ็คนี้ที่คาดหวังว่าจะเป็น use case ของการนำ mobility data มาเป็นฐานเพื่อหนดนโยบายอื่นๆ ต่อไป” ฐิติพงษ์กล่าวเน้นย้ำพร้อมยกตัวอย่างกรณีการกำหนดเส้นทางเดินสายรถเมล์ที่อาจใช้ mobility data ร่วมกับข้อมูล CCTV ทำให้ระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พันธกิจแรกเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อธิบายว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐบาลสะท้อนให้แห็นถึงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อการพัฒนาสู่ Digital Nation โดยให้ความสำคัญที่ “ข้อมูล” มากกว่า “ระบบไอที”

ปัจจุบัน สดช. ได้กำหนดทิศทางด้านข้อมูลโดยผลักดันให้ฐานข้อมูลที่เป็นบิ๊กดาต้าเป็นแหล่งเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐเองยังเผชิญกับความท้าทายโดยเฉพาะระบบการได้มาและการจัดเก็บข้อมูลนั้นมีความแตกต่าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีการจัดเก็บข้อมูลของตัวเอง โดยทั้งหมดต้องคำนึงถึงนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การออกแบบนโยบายจำต้องให้ทันสถานการณ์ ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้มาซึ่งข้อมูลที่ทันการณ์จึงความสำคัญมาก

“ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสถิติแห่งชาติ ผมตระหนักดีถึงบทบาทและความสำคัญของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อมูลมีการบูรณาการจากหลายแหล่ง วิเคราะห์ได้ถูกจุด ก็จะทำให้ข้อมูลนั้นๆ มีพลังอย่างมาก” เลขาธิการ สดช. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐยังเผชิญกับความล่าช้าอันเนื่องมาจากการปรับปรุงกฎหมาย แต่ขณะเดียวกัน รัฐเองก็มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปฏิรูปข้อมูล ทั้งการจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลบนระบบคลาวด์ที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพ หรือการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเต็มไปด้วยบุคลากรด้าน data scientist เพื่ออำนวยความสะดวกวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์ที่หน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องการ

“ข้อมูลที่เรียลไทม์จะทำให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการน้ำ การรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญในระยะอันใกล้นี้คือการเชื่อมโยงฐานข้อมูลให้เป็นแหล่งเดียวกัน ซึ่งเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่มีความสำคัญอย่างมาก” ภุชพงค์ กล่าว

ก้าวสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า จุดยืนของดีแทคต่อการใช้ mobility data คือ การขยายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อยู่บนสมดุลระหว่างนโยบายความเป็นส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสังคมเละเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปแบบอย่างแท้จริง

อรอุมา กล่าวเสริมว่า แม้โครงการฯ นี้จะใช้เวลายาวนานถึง 2 ปี แต่ทีมงานทั้ง 3 ฝ่ายก็ทำมันสำเร็จ แต่นั่นเป็นก้าวแรกเท่านั้น โดยก้าวต่อไปคือ การได้รับความเห็นชอบโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบและนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัยไปปรับใช้ ส่วนปลายทางความสำเร็จคือ การเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงวิธีการใช้ข้อมูลและวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาสังคม เช่นเดียวกับกรณีนี้ ที่มีความคาดหวังให้ mobility data สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการท่องเที่ยว ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมขององค์กรส่วนท้องถิ่น

“หลายคนอาจถามว่าเอกชนจะก้าวขามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายสาธารณะทำไม แต่ดีแทคเราเชื่อว่า สิ่งนี้คือหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมด้วยการใช้ศักยภาพของ mobility data ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาสร้างประโยชน์ต่อประเทศตามแนวคิด Civil society” อรอุมา อธิบาย.

#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.