ข่าวการเกษตร

“อลงกรณ์” ชงฟรุ้ทบอร์ดเห็นชอบโครงการจัดตั้ง ”มหานครผลไม้ (Fruit Metropolis)” และ ”กองทุนผลไม้แห่งชาติ”

“อลงกรณ์” ชงฟรุ้ทบอร์ดเห็นชอบโครงการจัดตั้ง ”มหานครผลไม้ (Fruit Metropolis)” และ ”กองทุนผลไม้แห่งชาติ” เพื่อยกระดับจันทบุรีและภาคตะวันออกเป็นฮับผลไม้โลก

? นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาโครงการมหานครผลไม้ และการขนส่งผลไม้ผ่านสนามบินจันทบุรี เปิดเผยวันนี้ ภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะทำงานศึกษาโครงการมหานครผลไม้ และการขนส่งผลไม้ผ่านสนามบินจันทบุรี ว่า คณะทำงานฯ จะเสนอฟรุ้ทบอร์ด (Fruit Board) พิจารณาเห็นชอบพิมพ์เขียวแนวทางการพัฒนาโครงการจัดตั้งมหานครผลไม้ (Fruit Metropolis Blueprint) และหลักการแห่งร่างกฎหมายกองทุนผลไม้แห่งชาติ (National Fruit Fund) รวมทั้งแนวทางการพัฒนาสนามบินจันทบุรีในการประชุมฟรุ้ทบอร์ดครั้งต่อไป คาดว่าเป็นปลายเดือนหน้าหรือต้นเดือนมกราคม เพื่อยกระดับจันทบุรี ภาคตะวันออกเป็นฮับผลไม้โลกในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำการผลิตและส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้ของโลก โดยปีที่ผ่านมาสามารถส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท

? โครงการมหานครผลไม้มุ่งต่อยอดการพัฒนาจากฐานศักยภาพปัจจุบันของจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราดและจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเชื่อมโยงกับศักยภาพของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor) โดยจะจัดตั้งบนพื้นที่ของรัฐในอำเภอนายายอามและอำเภอท่าใหม่ของจังหวัดจันทบุรี พร้อมกับการพัฒนาสนามบินจันทบุรีเป็นสนามบินพาณิชย์

? โดยโครงการมหานครผลไม้ประกอบไปด้วยการแบ่งโซนพื้นที่และองค์ประกอบสำคัญ เช่น
1. ศูนย์บริหารจัดการผลไม้ครบวงจร
2. ศูนย์ธุรกิจ แสดงสินค้าและการประชุม
3. ศูนย์การค้าอีคอมเมิร์ซและการประมูลออนไลน์
4. ศูนย์แปรรูปผลไม้
5. ศูนย์โลจิสติกส์ การขนส่งและคลังสินค้า
6. ศูนย์รวบรวมคัดแยกและบรรจุผลไม้สด
7. ศูนย์ห้องเย็น (Cold Chain Center)
8. ศูนย์ปฎิบัติการแล็ปกลาง
9. ศูนย์ตรวจรับรองคุณภาพผลไม้
10. ศูนย์วิจัยและพัฒนาโดยสถาบันผลไม้ (Fruit Academy) จัดตั้งภายใต้ระบบ AIC (ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม-Agritech and Innovation Center)

? นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า การบริหารจัดการจะใช้รูปแบบ PPP และการลงทุนของภาคเอกชนเป็นหลักเน้นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสู่เกษตรมูลค่าสูงโดยต่อยอดและเชื่อมโยงเสริมศักยภาพปัจจุบันของตลาดผลไม้และระบบการค้าการส่งออกที่มีอยู่เดิม เพิ่มในส่วนที่ขาดมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางผลไม้ของโลก รวมทั้งการสร้างแพลตฟอร์มเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกรชาวสวนผลไม้ภายในประเทศและต่างประเทศที่เป็นตลาดสำคัญเช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ฮ่องกง อาเซียน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ดูไบ ซาอุดีอาระเบีย เนเธอร์แลนด์และอียู ฯลฯ ในรูปแบบคล้ายคลึง FKII ของญี่ปุ่นและโมเดล Food Valley ของเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ในฐานะประธานกรกอ.จะนำโครงการมหานครผลไม้เข้าสู่การพิจารณาของการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.)ครั้งหน้าเพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการโรงงานกลุ่มคลัสเตอร์แปรรูปผลไม้และเวชสำอางค์ที่สนใจมาลงทุน

? นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าในการพัฒนาและปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และเห็นว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์เพื่อการขนส่ง การค้าและการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดนอกเขตอีอีซี.โดยช่วงแรกจะใช้สนามบินอู่ตะเภา สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและสนามบินจังหวัดตราดไปพลางก่อนโดยจะมีหนังสือขอการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคมรวมทั้งการขยายระบบรางมายังโครงการมหานครผลไม้ด้วย

? “เพื่อให้การพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผลไม้ไทยภายใต้โครงการมหานครผลไม้สู่การเป็นฮับผลไม้โลกจึงต้องมีทีมทำงานจากหลายภาคส่วนซึ่งจะได้ทาบทามมาร่วมงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคณะบุคคลที่มีส่วนในการผลักดันโครงการมหานครผลไม้มาเสริมทีมขับเคลื่อนโครงการเข่น นายวิชัย โภชนกิจ อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน ที่ปรึกษารัฐมนตรีพาณิชย์ นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ นายวิชัย นายธิติ เอกบุญยืน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี นายธีระ วงษ์เจริญ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ. นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย นายชรัตน์ เนรัญชร ผู้นำYoung Smart Farmerและคณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นางปภาวี สุธาวิวัฒน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย และ นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) ผู้แทนสมาคมทุเรียนไทย (TDA) และบุคคลอื่นๆจากภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการ ศูนย์ AIC และภาคเกษตรกร “นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

? สำหรับการประชุมคณะทำงานศึกษาโครงการมหานครผลไม้ และการขนส่งผลไม้ผ่านสนามบินจันทบุรีผ่านระบบการประชุมทางไกล zoom cloud meeting มีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายธีระ วงษ์เจริญ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ. นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. นายธีระ สลักเพชร อดีตรัฐมนตรีวัฒนธรรม นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธุ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายสมเกียรติ มณีสถิตย์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน นายชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพืชสวน กรมวิชาการเกษตร นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย นางปภาวี สุธาวิวัฒน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย และ นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) ผู้แทนสมาคมทุเรียนไทย (TDA) คุณชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร CTPI นางกัลยา ส่งรอด ผอ.กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจกรเกษตร นางปัทมา นามวงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี น.ส.ธารารัตน์ โพธิ์ศรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมี น.ส.เพ็ญระพี ทองอินทร์ ผู้อำนวยกลุ่มส่งเสริมไม้ผล สำนักสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเลขานุการการประชุม./

#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.