ข่าวประชาสัมพันธ์

สถาบันพระปกเกล้า โดย นักศึกษา ปนป.12 กลุ่มช้าง ร่วมกับ กทม. สสส. สานพลังภาคีกว่า 100 องค์กร แสดงพลังแก้ปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน

สถาบันพระปกเกล้า โดย นักศึกษา ปนป.12 กลุ่มช้าง ร่วมกับ กทม. สสส. สานพลังภาคีกว่า 100 องค์กร แสดงพลังแก้ปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดการขยะที่ต้นทางผ่านเครือข่าย Bkk Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการกล่าวเปิดงานและกล่าวขอบคุณภาคีทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ต้นทาง

วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 (เสาชิงช้า) กทม. กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) แผนงานคนไทย 4.0 สถาบันพระปกเกล้า คณะนักศึกษา ปนป.12 กลุ่มช้าง และสมาคมโรงแรมไทย จัดกิจกรรม BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม เพื่อแสดงพลังองค์กรภาคีทุกภาคส่วนรวมกว่า 100 องค์กรที่ต้องการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการขยะที่ต้นทาง และส่งเสริมให้องค์กร/หน่วยงานและสาธารณชนตระหนักถึงปัญหาขยะและมีส่วนร่วมในการลดการสร้างขยะ และคัดแยกขยะที่ต้นทางโดยเรียนรู้ผ่านองค์กรต้นแบบ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยนับเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และการร้องเรียนของประชาชนจากการจัดการขยะมูลฝอยอยู่เสมอ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID19 ทำให้ขยะติดเชื้อและขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยขยะมูลฝอยก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและสุขอนามัยของประชาชน ตลอดจนมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก/สารพิษลงสู่สิ่งแวดล้อม เกิดการปนเปื้อนของน้ำชะขยะสู่แหล่งดิน/แหล่งน้ำ และเกิดก๊าซมีเทนจากบ่อฝังกลบขยะที่เป็นก๊าซเรือนกระจกและเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของประเทศ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 2564 กรุงเทพมหานครสร้างขยะมูลฝอยสูงถึง 12,214 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ

“สสส. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ที่ให้ความสำคัญในการจัดการขยะมูลฝอย โดยการสร้างพื้นที่ต้นแบบการคัดแยกขยะ การต่อยอดการคัดแยกให้สมบูรณ์ครบวงจร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การส่งเสริมให้แหล่งกำเนิดในพื้นที่นำร่องมีระบบลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม” ดร.สุปรีดา กล่าวเสริม

รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ มีความยินดีที่ได้สนับสนุนการจัดการขยะที่ต้นทางให้กับกรุงเทพมหานครผ่านการสนับสนุนของสสส.ในการดำเนินโครงการพัฒนาเขตนำร่องการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืน: เขตปทุมวัน เขตพญาไท และเขตหนองแขม โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบการเก็บขยะแบบแยกประเภทร่วมกับสำนักงานเขต ระบบฐานข้อมูลกลาง (3 เขตนำร่อง) การส่งเสริมให้แหล่งกำเนิด อาทิ โรงเรียน วัด ชุมชน โรงแรม อาคารสำนักงาน กว่า 84 องค์กรในเขตปทุมวันและเขตหนองแขมมีการลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะ นอกจากนี้ โครงการยังได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนสวนต้องก้าวและบริษัทเจเนซิส เอ๊กซ์ พัฒนาต้นแบบการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ (Black Soldier Fly: BSF) ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม คาดหวังว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ดำเนินโครงการลดขยะที่ต้นทางมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดภาระในการจัดการขยะที่ปลายทางของกรุงเทพมหานครและส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน.

#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.