“เกษตรฯ”จับมือญี่ปุ่น เดินหน้าโครงการแปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันชีวภาพและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
“เกษตรฯ”จับมือญี่ปุ่นเดินหน้าโครงการแปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันชีวภาพและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยดร.อังศุธรมหิทธิกุล ผู้จัดการสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายณัฐพล วชิรโรจน์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) น.ส.มนทกานติ ท้ามติ้น ผอ.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี ผู้แทนกรมประมง พลเรือเอก ดร.สมัย ใจอินทร์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือและกรรมการมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย นส.สภาวรรณ พลบุตร ผู้แทนมูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท (Worldview Climate Foundation , Thailand) นายโชติ พืงเจริญพงศ์ คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตร นายมาซาฮิโร คาบาชิมา (Mr. Masahiro Kabashima) ผู้แทนบริษัทชิโตเซะผู้ผลิตน้ำมันจากสาหร่ายรายแรกของประเทศญี่ปุ่นว่า ที่ประชุม ได้ร่วมหารือความร่วมมือโครงการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย และผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายสู่เกษตรมูลค่าสูง ทั้งนี้ ผู้แทนบริษัทชิโตเซะผู้ผลิตน้ำมันจากสาหร่ายรายแรกของประเทศญี่ปุ่นยินดีที่จะสนับสนุนความรู้และประสบการณ์ของบริษัทที่ได้วิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผลิตเป็นน้ำมันรวมทั้งการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆมากว่า10ปีและพร้อมจะมาลงทุนในประเทศไทยโดยการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมสาหร่ายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ กรมประมงจึงดำเนินการรวบรวมผลงานวิจัยและพัฒนาสาหร่ายและเริ่มสนับสนุนให้เกษตรกรและภาคเอกชนเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ในการบริโภค อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งการผลิตเป็นน้ำมันชีวภาพ นอกจากนี้ตนยังได้ประชุมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขอให้นำสาหร่ายที่เพาะเลี้ยงในประเทศใช้ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทบางจากได้พัฒนาสาหร่ายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเช่นเวชสำอางค์ อาหารเสริม ส่วน ปตท. ร่วมกับ ”วว.” (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย Thailand Institute of Scientific and Technological Research (TISTR)) จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (Algal Excellent Center- ALEC) ทำการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายน้ำจืดเป็นน้ำมันแต่ยังมีต้นทุนสูงหากได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดหรือร่วมลงทุนวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีกับทางญี่ปุ่นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสาหร่ายสู่เกษตรมูลค่าสูงได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ยิ่งกว่านั้น สาหร่ายยังเป็นพืชที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้หลายเท่าช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อนสร้างคาร์บอนเครดิตให้กับประเทศไทยจึงได้เชิญมูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท (Worldview Climate Foundation , Thailand) และมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยมาช่วยขับเคลื่อนโครงการพัฒนาสาหร่ายและมอบหมายให้กรมประมงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์และแปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันชีวภาพและเกษตรมูลค่าสูงในเร็วๆนี้เพื่อเร่งการนำสาหร่ายมาสร้างอาชีพและใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ.