รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดการประชุมสรุป (ร่าง) แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง
รองอธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธานเปิดการประชุมสรุป (ร่าง) แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ภายใต้การศึกษา MR-MAP

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. ณ ห้องพญาไท 4 ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธานเปิดการประชุมสรุป (ร่าง) แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ภายใต้การศึกษา MR-MAP โดยมี ดร.ธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นผู้กล่าวรายงาน

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า “ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการบูรณาการการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-MAP) เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนและการแบ่งแยกชุมชน พัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ แก้ไขปัญหาการคมนาคมขนส่งทั้งโครงข่ายทางหลวงและโครงข่ายทางรางได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ กรมทางหลวงได้เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองพร้อมบูรณาการการใช้เขตทางร่วมกับระบบรางเพื่อให้โครงข่ายการคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพครอบคลุมการเดินทางทั่วประเทศ โดยเป็นการวางแผนพร้อมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน ซึ่งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษา MR-MAP ครั้งนี้ คือ ช่วยลดการเวนคืนและการแบ่งแยกชุมชน, เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภูมิภาคและการขนส่งระหว่างประเทศ, ลดระยะเวลาในการเดินทางและขนส่ง, ลดปัญหาการจราจรติดขัดที่เกิดขึ้นทั้งในเขตเมืองและบริเวณด่านการค้าชายแดน, พัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่โดยใช้การเชื่อมโยงการเดินทางหลากหลายรูปแบบ, เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และบริบทของสภาพเศรษฐกิจและสังคม”

ด้าน ดร.ธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ของโครงการแต่ละช่วงตามแผนแม่บท MR-MAP จำนวน 10 เส้นทาง เส้นทางละ 2 ครั้ง รวม 18 เวที มีผู้เข้าร่วมประชุม 6,500 คน ซึ่งหลังจากการประชุม ที่ปรึกษาได้นำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแนวเส้นทางโครงการให้มีความเหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งมีการปรับปรุงแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และแผนการบูรณาการร่วมกับระบบราง ให้มีความสอดคล้องกับการเชื่อมโยงโครงข่ายและงบประมาณในการดำเนินการของหน่วยงาน โดยวันนี้ เป็นการประชุมสรุป (ร่าง) แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง พร้อมการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ภายใต้การศึกษา MR-MAP เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน มาประกอบการพิจารณาในขั้นสุดท้ายของการศึกษา”




“การประชุมครั้งนี้ ได้จัดเตรียมการประชุม เป็นการประชุม 2 แบบ คือ รูปแบบออนไลน์ (Online) และแบบออนไซต์ (Onsite) โดยให้โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการถ่ายทอดข้อมูลโครงการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อื่น ๆ ที่แนวเส้นทางตามแผนแม่บท MR-MAP พาดผ่านทั้ง 10 เส้นทาง โดยได้จัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมในพื้นที่ดังกล่าว เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meetings) เพื่อให้ทุกท่านได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในวันนี้” ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กล่าวทิ้งท้าย.