แพทย์เผยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (VTE) ภัยเงียบที่ป้องกันได้
แพทย์เผยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (VTE) ภัยเงียบที่ป้องกันได้ ชี้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง-ผู้ป่วยที่ผ่าตัดใหญ่ เสี่ยงสูง หญิงตั้งครรภ์บางรายควรเฝ้าระวัง
เวลาที่พูดถึง ‘ลิ่มเลือดอุดตัน’ คนทั่วไปมักจะนึกถึงโรคหลอดเลือดสมอง หรือ หลอดเลือดหัวใจ ที่จะเกิดกับหลอดเลือดแดงเป็นหลัก เช่น ตีบ แตก ตัน แต่น้อยคนนักที่จะรู้จัก ‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ’ หรือ Venous Thromboembolism (VTE) ซึ่งมักเกิดขึ้นที่ขา หรือที่ปอด ทำให้เกิดทุพพลภาพในระยะยาวและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้โรคนี้สามารถป้องกันได้
เนื่องในวันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี โดยในปี 2566 นี้ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ, สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และซาโนฟี่ ประเทศไทย ร่วมจัดงานเสวนา ‘ลิ่มเลือดอุดตัน ภัยเงียบที่ป้องกันได้’ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันอย่างถูกต้อง โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลและสถาบันชั้นนำกว่า 10 ท่าน มาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางการดูแลรักษาและป้องกัน ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และรศ.ดร.นพ.หม่อมหลวง กรเกียรติ์ สนิทวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะตัวแทนของ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เข้าร่วมงาน ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “มิติสุขภาพเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยการมี ‘สุขภาพที่ดี’ เป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการลงทุน กรุงเทพมหานครตระหนักดีว่าการป้องกันโรคดีกว่าเกิดโรคแล้วค่อยไปรักษา และต้องการเห็นประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกหลักโภชนาการ ใช้ชีวิตอย่างสมดุลเพื่อป้องกัน บรรเทา และหลีกเลี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ โดย ‘เมือง’ มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โดยเราได้มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1. เมืองต้องเอื้อให้คนเดินออกกำลังกายได้สะดวก มีสวนสาธารณะที่มีคุณภาพและอยู่ใกล้บ้านในระยะเวลา 15 นาที สามารถเดินมาจากบ้านได้ ซึ่งเราได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 100 แห่ง 2. การแพทย์ เรามีศูนย์ด้านสาธารณสุขที่กระจายเป็นเส้นเลือดฝอยกว่า 20 แห่ง มีการดูแลผู้ป่วยติดเตียงนับหมื่นรายที่อยู่ในชุมชน เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเตียงโรงพยาบาลได้ เรามีการจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดูแลผู้ป่วยติดเตียงโดยร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ และ 3 คือการรณรงค์ให้ความรู้ในโรงเรียน ชุมชน และในระดับสาธารณสุข มีการจัดอบรมการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยทั้ง 3 ส่วนนี้ก็จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาล ซึ่ง กทม. ต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในวันนี้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน”
ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันจากปัจจัยแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ภาวะลิ่มเลือดอุดตันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลต่างประเทศ โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำจะถูกวินิจฉัยเป็นลำดับ 3 รองจากโรคหลอดเลือดแดงหัวใจและโรคหลอดเลือดแดงสมอง* โดยร้อยละ 60 ของโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำเกิดขึ้นระหว่างการนอนอยู่ในโรงพยาบาลหรือหลังออกจากโรงพยาบาลใหม่ๆ และทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ที่เชื่อมโยงกับการนอนโรงพยาบาล 10 ล้านคนต่อปี** สำหรับในประเทศไทยข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีการรายงานตัวเลขการวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism หรือ PE) เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ทั้งนี้ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทยพร้อมผลักดันและให้ความรู้แก่ประชาชนได้ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก ตื่นรู้ แต่ไม่ตื่นกลัว เพื่อป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็นในอนาคต”
ทั้งนี้กว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ จะไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีอาการที่ไม่ชัดเจน บางรายที่มีภาวะอุดตันที่ขา (Deep Vein Thrombosis หรือ DVT) อาจมีอาการปวดขา ขาบวม ผิวหนังที่ขาเปลี่ยนสีไปจากเดิม ส่วนรายที่เกิดขึ้นในปอด (PE) อาจมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืด หมดสติ ไอเป็นเลือด เป็นต้น ฉะนั้นการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมในวงกว้าง จึงช่วยให้ประชาชนเกิดการรับรู้อย่างเข้าใจและปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง หรือหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถให้ข้อมูลและขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหาแนวทางป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำนั้น ศ.นพ. พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ อาจเกิดขึ้นจากการที่เลือดจับตัวแข็งและสะสมในหลอดเลือดดำ (Venous System) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดได้จากการอักเสบในเส้นเลือดดำ โดยกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็ง จากข้อมูลผู้ป่วยในทวีปเอเซียรวมถึงประเทศไทย ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตันมีราวๆ ร้อยละ 20 ที่มีโรคมะเร็งอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมด้วย ผู้ที่ต้องผ่าตัดหรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ และต้องนอนโรงพยาบาลมีการเคลื่อนไหวทางร่างกายน้อย เป็นเวลานานๆ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยง และอีกกลุ่มที่มักถูกมองข้ามคือ หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเกิด VTE มากกว่าคนปกติ ถึง 4 เท่า และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของมารดาถึงร้อยละ 10 นอกจากนี้ การเกิด VTE ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีประวัติ VTE ในครอบครัว การใช้ยาคุมกำเนิด สูบบุหรี่จัด เป็นต้น
รศ.พญ. ปิยนุช พูตระกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แชร์ข้อมูลและสถิติที่น่าสนใจว่า ความเสี่ยงของการเกิด VTE ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางหัตถการและปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเองด้วย โดยหัตถการที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิด VTE คือ การเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่า และการผ่าตัดระบบประสาท นอกจากนี้ ระยะเวลาของการผ่าตัด ระดับความรุนแรงของเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บและระยะเวลาที่ไม่ได้ลุกเดินหลังผ่าตัด ก็ส่งผลต่อการเกิดภาวะ VTE ด้วยเช่นกัน
ทุกวันนี้ วงการแพทย์สามารถป้องกันการเกิด VTE ในผู้ป่วยผ่าตัดได้หลายวิธี เช่น การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ปัจจุบันการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันด้วยยาในโรงพยาบาลทำได้ด้วยการใช้ยาฉีดและยารับประทานเพื่อป้องกันการแข็งตัวของการพยายามให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว การใส่เครื่องกระตุ้นบีบนวดกล้ามเนื้อบริเวณขา ใส่ถุงน่องทางการแพทย์ หรือลุกเดินอย่างเหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับการป้องกัน โดยโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้นำร่องการทำแบบประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด โดยระบุว่าผู้ป่วยคนไหนที่มีความเสี่ยงในการเกิด VTE และให้การป้องกันอย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะ VTE มากที่สุด ยาฉีดคาดว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความเหมาะสมกับสภาพผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือฉีดต่อเนื่องที่บ้านมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยกับผู้ป่วยทุกกลุ่ม ทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยผ่าตัด และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งชนิดของยาฉีดบางตัวบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ครอบคลุมสิทธิการเบิกจ่ายทุกสิทธิทั้งบัตรประกันสุขภาพ ประกันสังคม และข้าราชการ
รศ.พญ. ปิยนุช พูตระกูล ได้กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลของโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าหลังจากที่ออกมาตราการกระบวนการการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำหลังผู้ป่วยแผนกศัลยกรรม พบว่า อัตราการเกิด VTE ลดลงอย่างน่าพอใจและสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดดำอุดตันได้ โดยมาตรการในการป้องกันดังกล่าวทำให้เห็นว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากคือเสียค่าใช้จ่ายน้อยแต่เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นสิ่งที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์สามารถปฏิบัติได้ เมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากปล่อยให้โรคเกิดขึ้นโดยไม่ได้ป้องกัน การป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ นับเป็นสิ่งที่ภาคการบริหารจัดการของโรงพยาบาล หน่วยงานต่างๆ ควรยกระดับการดูแลเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
ข้อมูลอ้างอิง
* https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK549877/ และ
** https://www.worldthrombosisday.org/