ข่าวสิ่งแวดล้อม

สตง. รุดตรวจสอบการบริหารจัดการด้านการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม หวั่นก่อปัญหามลพิษ

สตง. รุดตรวจสอบการบริหารจัดการด้านการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม หวั่นก่อปัญหามลพิษ รวมถึงส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกลไกของห่วงโซ่การผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบให้สูงขึ้น ลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดย ณ สิ้นปี พ.ศ. 2565 มีโรงงานอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 73,232 แห่ง หากภาครัฐขาดการวางแผนและการบริหารจัดการที่ดี อาจส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางดิน มลพิษทางเสียง ตลอดจนความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากอุบัติเหตุในโรงงาน อัคคีภัย และสารเคมีรั่วไหล สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้เข้าตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการด้านการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2563-2565 โดยสุ่มตรวจสอบเอกสาร ระบบสารสนเทศ และสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครสวรรค์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี และสงขลา สรุปข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้

​1. การตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมไม่ครอบคลุมโรงงานในพื้นที่และมีการตรวจกำกับไม่ครบทุกด้าน จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานการตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลโรงงาน ความปลอดภัยในโรงงาน เครื่องจักรอุปกรณ์ การควบคุมการปล่อยมลพิษ และการจัดการกากอุตสาหกรรม พบว่า การตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมไม่ครอบคลุมโรงงานในพื้นที่รับผิดชอบ กล่าวคือ มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการตรวจกำกับเป็นจำนวน 37,355 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 60.22 ของโรงงานทั้งหมด 62,030 แห่ง ที่แจ้งประกอบการ ในปี พ.ศ. 2565 ในขณะเดียวกัน จากการเข้าสังเกตการณ์โรงงานในส่วนภูมิภาค จำนวน 14 แห่ง ที่มีการร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงงานที่ได้รับการตรวจกำกับแล้วจำนวน 13 แห่ง ปรากฏว่ามีโรงงานจำนวน 8 แห่ง ที่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากการส่งกลิ่นเหม็นฝุ่นและมลพิษทางอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมไม่ครบทุกด้าน โดยด้านที่ไม่ได้ตรวจกำกับสูงที่สุดคือด้านสารเคมี/วัตถุอันตราย มีจำนวนทั้งสิ้น 106 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 89.08 ของโรงงานที่มีสารเคมี/วัตถุอันตรายทั้งหมด 119 แห่ง

2. การรายงานข้อมูลของโรงงานกลุ่มเป้าหมายบางแห่งยังไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด เช่น กรณีการรายงานข้อมูลสารเคมีอันตรายที่มีการเก็บหรือใช้ในการประกอบกิจการ ซึ่งกำหนดให้โรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายในการประกอบกิจการที่มีปริมาณตั้งแต่ 1 ตัน/ปี/ชนิดขึ้นไป จะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสารและรายงานต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลปีละครั้ง แต่จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบข้อมูลเพื่อความปลอดภัยด้านสารเคมีในโรงงานจำนวน 789 แห่ง พบว่า มีโรงงานที่ไม่เคยรายงานข้อมูล จำนวน 506 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 64.13 ของโรงงานที่ตรวจสอบ และในจำนวนนี้มี 4 แห่ง เป็นโรงงานที่มีการครอบครองสารเคมีปริมาณตั้งแต่ 1,000 ตัน หรือเก็บไว้ในพื้นที่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นโรงงานที่ควรติดตามให้มีการรายงานข้อมูลอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

​3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดได้ เช่น ภารกิจการกำกับดูแลและรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ซึ่งเป็นโรงงานที่ผู้ประกอบการไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตทราบก่อน เนื่องจากอาจก่อปัญหามลพิษหรือเหตุเดือดร้อนรำคาญ จากการสุ่มตรวจสอบพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีข้อมูลสำหรับใช้ในการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมไม่ครบถ้วน หรือมีข้อมูลหรือทะเบียนโรงงานไม่ตรงกับในระบบฐานข้อมูล อีกทั้งยังพบว่าการรับแจ้งและการออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ไม่ครบถ้วนตามขั้นตอน โดยขาดการเข้าตรวจโรงงาน เครื่องจักร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการโรงงาน เป็นต้น

​“การตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมไม่ครอบคลุมโรงงานในพื้นที่และมีการตรวจกำกับไม่ครบ ทุกด้าน และปัญหาการรายงานข้อมูลของโรงงานกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดได้ ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้รับการกำกับดูแลทั้งด้านความปลอดภัยในโรงงาน การควบคุมการปล่อยมลพิษ รวมถึงกรณีอื่นใดที่อาจส่ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง” รายงานการตรวจสอบของ สตง. ระบุ

​จากผลการตรวจสอบข้างต้น สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข อาทิ ดำเนินการรวบรวมปัญหาและข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน พร้อมหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน โดยอาจพิจารณานำผู้ตรวจสอบเอกชนมาสนับสนุนการตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมให้ครอบคลุม การใช้แบบตรวจสอบที่พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ในการปฏิบัติงานตรวจกำกับโรงงานและการรายงานผลการตรวจสอบให้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน การให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานตามภารกิจถ่ายโอนและตามคู่มือการปฏิบัติงานในภารกิจตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เป็นต้น

___

#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.