CP-Meiji จัดแข่งขัน Robotics Grand Championship 2024 หนุนเด็กไทย
CP-Meiji จัดแข่งขัน Robotics Grand Championship 2024 หนุนเด็กไทยต่อยอดทักษะหุ่นยนต์-อากาศยานไร้คนขับ
บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ร่วมกับ ชมรมวิทยาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ชมรมครูหุ่นยนต์ไทย บริษัท เอ็ม รีพับบริค ซัพพลาย และโรงเรียนวัดขอนชะโงก(เขียววิมลราษฎร์อุปถัมภ์) จังหวัดสระบุรี จัดการแข่งขันทักษะวิชาการด้านหุ่นยนต์และอากาศยานไร้คนขับ “CP-Meiji Robotics Grand Championship 2024” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทักษะแห่งอนาคต ในศตวรรษที่ 21 โดยมี นายวิชัย บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน นายยุทธนา โพธิวิหค ปลัดจังหวัดสระบุรี และนางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ ซีพี-เมจิ เป็นผู้มอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการแข่งขัน ณ โรงเรียนวัดขอนชะโงกฯ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี
นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กล่าวว่า ซีพี-เมจิ ดำเนินโครงการ ‘ซีพี-เมจิ นวัตกรรม-การศึกษา-อนาคต’ ตั้งแต่พ.ศ. 2563 ภายใต้เจตนารมณ์ในการเพิ่มคุณค่าชีวิต เพื่อพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน โดยร่วมมือกับโรงเรียนเครือข่ายจำนวน 9 แห่งในจังหวัดสระบุรี จัดอบรมให้ความรู้ทักษะการประกอบหุ่นยนต์และการเขียนโปรแกรมอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม Robotics and Coding เปิดโอกาสการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งนี้ยังส่งเสริมการแข่งขันหุ่นยนต์ในเวทีระดับประเทศและนานาชาติ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนในการเข้าศึกษาต่อด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ รวมถึงคอมพิวเตอร์ ร่วมผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพแก่ประเทศต่อไป
ด้าน ดร.กัญญ์ชิสา ทุมมาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดขอนชะโงกฯ กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านเรียนรู้วิธีการออกแบบหุ่นยนต์และอากาศยาน ด้วยการประยุกต์ทักษะด้านกลศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์ ร่วมกับการออกแบบความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเปิดโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศแสดงผลงานในการแข่งขันหุ่นยนต์และอากาศยาน โดยใช้กติกาการตัดสินระดับสากล เพื่อต่อยอดการแข่งขันในระดับสูงหรือระดับนานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดการศึกษา รูปแบบ Active Learning และ STEM ให้เด็กๆ ได้เรียนดี มีความสุข อย่างยั่งยืน
สำหรับ การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 263 ทีม กว่า 1,000 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 30 จังหวัดแต่ละภูมิภาคของประเทศ โดยได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 6 ประเภท ได้แก่ 1.) หุ่นยนต์บังคับมือแบบขาเดินภารกิจขนส่งน้ำนมดิบรีโมทแบบสาย ซีพี-เมจิ 2.) หุ่นยนต์บังคับมือแบบขาเดินภารกิจขนส่งน้ำนมดิบรีโมทแบบสาย รวมทุกระดับชั้น 3.) หุ่นยนต์บังคับมือเคลื่อนที่ด้วยล้อภารกิจขนส่งนมรีโมทแบบสาย 4.) หุ่นยนต์ต่อสู้แบบขา 5.) หุ่นยนต์อัตโนมัติขนถ่ายหินอ่อน 6.) โครงงานหุ่นยนต์ “ไฟฟรีจากฟ้า” Solar Energy และรับถ้วยเกียรติยศจากผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี 4 ประเภท ได้แก่ 1.) หุ่นยนต์บังคับมือเตะจุดโทษ 2.) หุ่นยนต์ซูโม่หนึ่งพันกรัมควบคุมด้วยรีโมท 3.) หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ 4.) อากาศยานไร้คนขับทำภารกิจ ./