มุมมองของ Young Gen ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรและสังคม
มุมมองของ Young Gen ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรและสังคม และเคล็ดลับการทำงานท่ามกลางความแตกต่างด้านเจเนอเรชั่น ภาษา และวัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณค่าในชีวิต
ความคาดหวังในอาชีพและการทำงานของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนไป การสำรวจของ Deloitte ระบุว่า คน Gen Z (61%) และมิลเลนเนียล (58%) เชื่อว่าพวกเขามีพลังในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในองค์กรของตนได้
ปารมิตา ประพฤติธรรม จากสายงาน Channel Strategy & Transformation ตัวแทนพนักงานรุ่นใหม่วัย Gen Z ของทรู ที่ผ่านโปรแกรม True Next Gen สร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยเร่งขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น Telco-Tech Company เธอได้แบ่งปันมุมมอง ความมุ่งมั่น และการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้จริง
นอกจากนี้เธอได้ชวน Sandip Shivaji Landge จากสายงาน S&D Strategy and Performance Management เพื่อนร่วมงานต่างเจเนอเรชั่นที่ผ่านประสบการณ์ทำงานท่ามกลางความหลากหลายมาถึง 15 ปี ใน 3 ประเทศที่มีความแตกต่างอย่างอินเดีย เมียนมา และไทย โดยร่วมแบ่งปันเคล็ดลับการทำงานในสภาพแวดล้อมและผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย พร้อมกับการสร้างมิตรภาพและการเรียนรู้ที่มีคุณค่าในชีวิตการทำงานอีกด้วย
จากการทำกิจกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ สู่ความฝันทางการเมือง
“เรามีความฝันชัดเจนว่า อยากทำงานด้านการเมือง โดยได้แรงบันดาลใจจากการเลือกประธานนักเรียนตอนประถมปลาย ได้เห็นว่าการเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนได้แม้ในเวลานั้นจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ก็ตาม ประกอบกับเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยมีโอกาสได้ทำกิจกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการทำชุมนุมบัญชีที่มีกิจกรรมส่งเสริมให้เพื่อนๆ เข้าใจทางเลือกอาชีพนอกสาขาวิชาเรียน หรือการไปสร้าง Business Model ให้หมู่บ้านใน จ.สุรินทร์ ทำให้ชาวบ้านมีช่องทางหารายได้มากขึ้นจริงและยั่งยืน จากกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เราอยากสร้าง Impact ที่ใหญ่ขึ้น และตอกย้ำแรงบันดาลใจที่อยากเข้าสู่การเมืองมากขึ้นไปอีกด้วย นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้ว่า ทักษะการสื่อสารกับคนที่หลากหลายเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งเราต้องสะสมทักษะนี้ไว้ให้มากที่สุด”
จุดเปลี่ยนสู่การค้นหาตัวเอง และกล้าเสี่ยงกับทางที่เลือก
“ตอนอยู่ปี 2 เราเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้อยากทำงานตรงสายการบัญชี (Accounting) ที่กำลังเรียนอยู่ แต่เรามีความสนใจด้านธุรกิจที่กว้างกว่านั้น และยังอยากสำรวจความชอบของตัวเองให้แน่ใจ เราได้ปรึกษากับรุ่นพี่ รวมถึงผู้ใหญ่หลายท่านว่าเราควรเลือกทำงานอะไรดี รวมถึงถามเรื่องแนวคิดในการดำเนินชีวิตด้วย เราเก็บข้อมูลจากมุมมองที่หลากหลาย พร้อมกับพาตัวเองไปฝึกงานในหลายตำแหน่งงานและหลายแวดวง ทั้ง สตาร์ทอัพ HR Consultant ไปจนถึงการบัญชี และทำกิจกรรมแข่งขันเคสธุรกิจต่างๆ ด้วย”
“เราเข้าใจดีว่า ถ้าทำงานในสายการบัญชี จะมีงานที่มั่นคงไปตลอดชีวิต แต่เราไม่อยากเสียเวลากับงานที่รู้ว่าไม่ใช่ และอยากใช้ช่วงชีวิตที่ยังตื่นตัวกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ และมี Passion เต็มเปี่ยมไปค้นหาสิ่งที่ชอบ แม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยงเยอะกว่า หรือสุดท้ายอาจหาตัวเองไม่เจอเลยก็ได้ แต่เมื่อได้ไตร่ตรองจนตกตะกอนแล้ว สุดท้ายเราขอลองเสี่ยงดูดีกว่า”
ประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายในโปรแกรม True Next Gen
“พอเรียนจบเราได้ผ่านการทดสอบเข้ามาในโปรแกรม True Next Gen ซึ่งตอบโจทย์เรามาก เพราะเปิดโอกาสให้ได้ทำงานหลายตำแหน่งหลายสาขา ได้เรียนรู้หลายอย่าง ประกอบกับทรู ที่กำลังมุ่งสู่การเป็น Telco-Tech Company น่าจะมีการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งเราอยากเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนั้น ในเวลา 1 ปีครึ่ง เราได้ทำงานถึง 3 สายงาน ตั้งแต่งาน Retail Operations ของ True Shop สาขาต่างๆ งาน Financial Strategy ที่ MorDee และงาน Channel Profitability Analysis กับทีม Finance ทุกงานเราได้ลงมือทำจริง ทำให้ Learning Curve สูงมาก ทั้งการทำงานกับผู้คนและตัวเนื้องานต่างๆ เอง”
“พอจบโปรแกรมก็ได้ทำงานในสาย Channel Strategy & Transformation โดยสานต่องานโปรเจกต์ Channel Profitability ที่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงการบริหารจัดการ ที่นำ Performance ของแต่ละ Channel การขายของบริษัทมาวิเคราะห์แยกย่อยให้เห็นความสามารถในการทำกำไรแท้จริงของแต่ละช่องทางการขาย ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมข้อมูลยิบย่อยของภาพเล็ก มาสู่การวิเคราะห์เป็นภาพใหญ่ ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้แต่ละช่องทางการขายนำไปสร้างกลยุทธ์ที่แก้ไขปัญหาหรือริเริ่มสิ่งใหม่ในการทำกำไรมากขึ้น งานนี้ได้ทั้งความรู้และได้ทำงานร่วมกับคนเยอะมากจากหลากหลายฝ่าย ตอนนี้ก็ใกล้สำเร็จแล้ว”
การทำงานท่ามกลางความหลากหลายไม่มีสูตรสำเร็จ
“การที่เราอายุน้อย เราพยายามหาโอกาสสร้างสัมพันธ์กับพี่ๆ ทุกคน โดยไม่ใช่แค่เรื่องงานเท่านั้น เราลองหาว่าจะคุยเรื่องไหนที่มีความสนใจร่วมกันบ้าง และพยายามหาโอกาสมานั่งทำงานและใช้เวลาร่วมกันแบบ Face to Face เสมอ ที่ผ่านมาเราเคยใช้การสื่อสารหรือวิธีการทำงานแบบเดียวกันที่คิดว่าใช้ได้กับทุกคน แต่สุดท้ายได้เรียนรู้ว่า แต่ละคนมุมมองแตกต่าง มี Mindset หรือการมองโลกคนละแบบ ดังนั้นการสื่อสารหรือทำงานกับแต่ละคนจึงไม่มีสูตรสำเร็จในแบบเดียว เราต้องเข้าใจแต่ละคน ไปพร้อมกับการหาวิธีที่เราก็ไม่เสียความเป็นตัวเองด้วย”
“ข้อดีของการที่เราเป็นเจเนอเรชั่นใหม่คือ เรามีมุมมองที่แปลกใหม่ มีความกระตือรือร้น และมาพร้อมรอยยิ้มเสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งต่อไปยังคนรอบข้าง พี่ๆ เคยบอกว่าการที่เราเข้ามาในทีมทำให้ทุกคนสดใสขึ้น ลดความเครียดได้ และเสริมความสัมพันธ์ในทีมได้ สำหรับเราที่เป็นเด็ก ก็ไม่มีอีโก้อะไร ไม่มีอะไรจะเสียที่เราจะเสนอสิ่งใหม่ หรือแม้แต่ถามหรือขอเรียนรู้งานจากทุกคนได้”
มีความสบายใจในทุกด้าน เพื่อทำงานในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเอง
“ชีวิตคนเราทุกวันนี้มีความวุ่นวายในหลายด้านมากๆ การที่เราจะมีสมาธิในการทำงาน ทุ่มเทงานได้เต็มที่เต็มความสามารถ มาจากการที่ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นๆ ในชีวิตมากนัก ยิ่งวัยทำงานก็จะมีทั้งเรื่องลูก พ่อแม่ที่อายุมากขึ้น หรือแม้แต่ความเจ็บป่วยของตัวเอง สวัสดิการต่างๆ ที่บริษัทจัดให้จึงมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าบริษัทมีสวัสดิการที่รองรับปัญหาชีวิตนอกการทำงานของพนักงานได้ มองกว้างไปกว่าเรื่องงาน คิดว่าตรงนี้ก็ช่วยให้ทุกคนทำงานได้เต็มที่ เต็มศักยภาพมากที่สุดได้”
พูดคุยเรื่องการทำงานกับเพื่อนร่วมงานต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม และต่างเจเนอเรชั่น
ปารมิตา: “ในทีมที่เราทำงาน มีความหลากหลายในแทบทุกด้าน อย่างคุณ Sandip ก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่มีความแตกต่างจากเรา เขาให้คำแนะนำดีๆ หลายอย่างจากความเชี่ยวชาญ รวมถึงมีประสบการณ์ทำงานในหลายประเทศมาก่อน”
Sandip: “ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ผมทำงาน 3 ประเทศในสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก เริ่มจากการทำงานกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ใน 5 รัฐของอินเดีย ที่แต่ละรัฐก็มีความแตกต่างทั้งภาษาและวัฒนธรรมอยู่แล้ว ต้องปรับตัวใหม่ทุกอย่าง ต่อมาก็ย้ายไปทำงานที่เมียนมาซึ่งมีวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างมากเช่นกัน ผมเริ่มต้นบุกเบิกกับคนที่ไม่มีพื้นฐานงานด้านโทรคมนาคมมาก่อน ความท้าทายที่เพิ่มมาคือสอนให้พวกเขาเข้าใจธุรกิจไปด้วย และปัจจุบันผมทำงานประเทศไทยได้ 2 ปีครึ่งแล้ว ที่ผ่านมามีเดินทางไปทำงานที่นอร์เวย์บ้าง ทั้งหมดนี้เป็นการเดินทางที่ท้าทาย ได้พบเจอผู้คนที่แตกต่าง เรียนรู้สิ่งใหม่ ซึ่งสนุกและตื่นเต้น”
ปารมิตา: “สำหรับเราช่วงแรกที่ทำงานกับคนต่างชาติ ก็รู้สึกว่ามีอุปสรรคเรื่องภาษาบ้าง แต่ก็สัมผัสได้ว่า เขาไม่เคยโฟกัสเรื่องแกรมมาร์ถูกหรือผิด เขากลับพยายามที่จะเข้าใจเรา ช่วยเรา ทั้งที่พวกเขาก็มีตำแหน่งที่สูงมาก หรือมีประสบการณ์ทำงานเยอะกว่าเรามาก เขายังอยากเรียนรู้และเข้าใจเรา อย่างคุณ Sandip ก็ให้คำแนะนำที่ดีมาก ดังนั้นเราก็กล้าที่จะพูดคุย ส่วนเรื่องวิธีการทำงาน เรารู้สึกว่าถ้ามีอะไรก็บอกตรงๆ เขาก็ช่วยจัดให้เลย”
Sandip: “ผมคิดว่าช่วงแรกๆ เพื่อนร่วมงานคนไทยหลายคนก็คล้ายกับปารมิตา คือยังไม่เปิดใจพูดคุยกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอุปสรรคด้านภาษาและความแตกต่าง แต่ผมพยายามสร้างมิตรภาพ ให้ทุกคนมองว่าผมเป็นเพื่อน ไม่สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมว่าผมเป็นชาวต่างชาติ ที่จะกลายเป็นข้อจำกัดและระยะห่างได้ สิ่งสำคัญคือการทำตัวผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทย ทำเหมือนกับที่ทุกคนทำ พร้อมไปกับทำความรู้จักกัน ให้ทุกคนมั่นใจว่าทุกอย่างไม่ใช่อุปสรรค ถึงพูดภาษาอังกฤษสื่อสารไม่คล่อง เราก็เรียนรู้ภาษาท่าทางได้ และแสดงว่าผมเปิดใจกว้างให้กับทุกคนสามารถเข้ามาคุยกันได้ทุกเมื่อ”
“และเคล็ดลับหนึ่งของผมคือ การมีช่วงเวลาพักและดื่มกาแฟด้วยกัน เพื่อให้มีโอกาสที่จะพูดคุยเรื่องต่างๆ นอกเหนือจากงาน ผมเชื่อว่า ถ้าให้เวลาพักสักนิด จะทำให้คุณใกล้ชิด เข้าใจกันและกันมากขึ้น และแสดงออกได้ดีขึ้น ส่งผลให้งานดีขึ้นเช่นกัน”
ปารมิตา: “เคล็ดลับนี้ของคุณ Sandip เราได้นำไปใช้กับเพื่อนร่วมงานไทย และพบว่ามันได้ผลดีมากด้วยเหมือนกัน การที่เขามีมิตรภาพที่ดี ทำให้เราไม่ปิดกั้นตัวเองที่จะพูดคุย ที่ผ่านมาเราได้ขอคำแนะนำ ความคิดเห็นเกี่ยวกับงาน มุมมองการใช้ชีวิต และทักษะความรู้ทางธุรกิจจากคุณ Sandip เสมอ รวมถึงเรียนรู้วิธีการทำงานกับความหลากหลายต่างๆ ด้วย”
Sandip: “ปารมิตาเป็นเพื่อนร่วมงานที่อายุน้อยที่สุดในทีม แต่เธอสามารถเข้าใจความต้องการของธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว และปรับตัวให้เข้ากับทีมได้ดี ผมยกย่องคนที่แสดงความสนใจและทำความเข้าใจกับงานอย่างลึกซึ้ง ผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำความเข้าใจและทำสิ่งที่แปลกใหม่ พวกเขาไม่ยึดติดกับแนวทางเดิมๆ พยายามเป้าหมายและวิธีที่แตกต่างออกไป ผมก็เชื่อเช่นกันว่า ถ้าไม่คิดต่างก็ยังคงได้ผลลัพธ์เดิมๆ ดังนั้นแม้จะมีความแตกต่างของวัย แต่เราเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีที่สุดต่อกัน”
Lesson Learned: การทำงานท่ามกลางความหลากหลายด้านวัย เชื้อชาติ และวัฒนธรรม
- Building Relationships: สร้างมิตรภาพที่ดีต่อกัน หาโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกัน นอกเหนือจากเรื่องการทำงาน
- Adaptability and Learning: การเปิดใจเรียนรู้รับฟังความที่หลากหลาย และปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ ช่วยให้ทำงานได้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง
- Effective Communication: รับฟังและเข้าใจมุมมองของผู้อื่น พร้อมสื่อสารเข้าใจง่าย ชัดเจน รวมถึงพยายามสื่อสารแบบ Face to Face เพื่อเพิ่มความเข้าใจจากบริบทและท่าทาง จะช่วยให้ทำงานร่วมกันได้ราบรื่น
_____
ทรู คอร์ปอเรชั่น เชื่อว่าความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศ วัย อายุ เชื้อชาติ ความสนใจ ไลฟ์สไตล์ โดยในเดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลาย (Pride Month) ทรู แสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียม จากการผสานความแตกต่าง โอบรับความหลากหลายของทุกคนในทุกมิติ และกล้าแสดงความเป็นตัวเอง ผ่านแคมเปญ #BringYourBest เพราะที่ทำงานคือพื้นที่ให้เราได้เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด พร้อมนำเสนอเรื่องเล่าของคนทรู ที่สะท้อนความแตกต่างหลากหลายและเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพและความเป็นตัวเองอย่างแท้จริง
###
อ่านบน True Blog: https://true.th/blog/bringyourbest-young-gen/
__________