ข่าวตำรวจและอาชญากรรม

ทรู คอร์ปอเรชั่น ผนึกตำรวจ-กสทช. ร่วม “ยุทธการระเบิดสะพานโจร” ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่

ทรู คอร์ปอเรชั่น ผนึกตำรวจ-กสทช. ร่วม “ยุทธการระเบิดสะพานโจร” ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่เพื่อความปลอดภัยประชาชน

11 ตุลาคม 2567 – ทรู คอร์ปอเรชั่นร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB), กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน กสทช. ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชนครั้งใหญ่ ในยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” โดยทรูได้เกาะติดสถานการณ์จนนำไปสู่การชี้เบาะแส ตรวจสอบพื้นที่ที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือผิดปกติ และวิเคราะห์ข้อมูลการร้องเรียนเกี่ยวกับเบอร์ต้องสงสัย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่ได้ พร้อมยึดของกลางเป็นเครื่อง Sim Box 113 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 575 เครื่อง คอมพิวเตอร์ 23 เครื่อง และซิมการ์ดค่ายมือถือต่างๆ ประมาณ 101,068 ซิม ทั้งนี้ ทรูยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การใช้โทรศัพท์มือถือของประชาชนปลอดภัยจากมิจฉาชีพ โดยมุ่งหวังที่จะร่วมปราบปรามโจร และตัดช่องทางการกระทำผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างเด็ดขาด

ล่าสุด ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์  หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือใน “ยุทธการระเบิดสะพานโจร” ร่วมกับ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร. พร้อมกับ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเดือดร้อนอย่างหนักให้แก่ประชาชนคนไทยในขณะนี้ เราห่วงใยประชาชนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ โดยต้องการร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทรูได้เฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบการใช้งานผิดปกติในบางพื้นที่ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ ประกอบกับมีลูกค้าแจ้งเบอร์ต้องสงสัยผ่านสายด่วน 9777 ทางบริษัทจึงรีบประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB), กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน กสทช. จนนำไปสู่การชี้เป้าจับกุมครั้งใหญ่ โดยยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงซิมการ์ดและอุปกรณ์มือถือ ซึ่งถือเป็นการทำลายวงจรของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีตัวการใหญ่อยู่เบื้องหลัง และจะมีการสืบสวนขยายผลต่อไป ทั้งนี้ ทรูยืนยันว่าจะยังคงทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกคน”

มาตรการเข้มงวดต่อต้านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของทรู คอร์ปอเรชั่น

ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ประกาศมาตรการเข้มงวดเพื่อต่อต้านการกระทำผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีรายละเอียดดังนี้ :

  1. ตรวจสอบการใช้งาน Sim Box : แจ้งตำรวจหากพบการโทรผิดปกติจากหมายเลขเดียวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
  2. ระงับเบอร์ต้องสงสัย : ส่ง SMS และระงับการใช้งานเบอร์ที่มีการโทรออกผิดปกติ พร้อมให้ยืนยันตัวตน
  3. เปิดสายด่วนรับแจ้งเบาะแส : หมายเลข 9777 สำหรับแจ้งเบอร์ต้องสงสัยหรือ SMS หลอกลวง
  4. ร่วมมือกับแอปพลิเคชัน Whoscall : ส่งข้อมูลเบอร์ต้องสงสัยเพื่อเพิ่มในระบบแจ้งเตือน
  5. ปิดเสาสัญญาณตามแนวชายแดน: ป้องกันการใช้สัญญาณโทรศัพท์เพื่อก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดนตามข้อกำหนดของสำนักงาน กสทช.
  6. AI และ Data Analytics : วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคัดกรองและหยุดการกระจายซิมเสี่ยง ลดจำนวนซิมที่อาจถูกใช้ผิดกฎหมายได้ถึง 500,000 ซิมต่อปี
  7. เข้มงวดการลงทะเบียนซิม : กำหนดให้คู่ค้าต้องลงทะเบียนซิมทันทีทุกครั้งที่มีการขาย เพื่อป้องกันการแอบอ้างและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  8. บทลงโทษสำหรับคู่ค้าที่ไม่ปฏิบัติตาม : เริ่มจากการตักเตือน ลดค่าตอบแทน ไปจนถึงยกเลิกการเป็นคู่ค้า
  9. สนับสนุนการทำงานของตำรวจ : ให้ข้อมูลเพื่อช่วยปิดตู้ซิมที่ช่วยเหลือคนร้ายใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย
  10. เฝ้าระวังการซื้อซิมผิดปกติ : แจ้งเบาะแสทันทีเมื่อพบกลุ่มบุคคลต้องสงสัยซื้อซิมจำนวนมาก

มาตรการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทรู คอร์ปอเรชั่น ในการร่วมปราบปรามอาชญากรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์และปกป้องประชาชน โดยเน้นการป้องกัน การตรวจจับ ปราบปราม และการดำเนินการอย่างรวดเร็วเมื่อพบเหตุต้องสงสัย และได้ทำอย่างต่อเนื่องด้วยความห่วงใยเพื่อประชาชน

_____

#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.